Loading...
ปัญหาหลักๆ ของชาวบ้านในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน แบ่งออกได้เป็น 2 ประเด็นหลักๆ คือ “ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะ” และ “ปัญหาขยะทะเล”
ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะนั้นเรียกได้ว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและยาวนานตั้งแต่ในสมัยอดีตจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้แผ่นดินที่เคยเป็นที่อยู่และที่ทำกินของชาวบ้านต่างก็ถูกน้ำทะเลกลืนไปนับหลายกิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านต่างต้องพากันย้ายที่อยู่อาศัยเพื่อหนีภัยจากน้ำทะเลกัดเซาะจนมากระจุกตัวอยู่ใกล้กันมากขึ้นเรื่อยๆ บนพื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัด ใครที่เคยย้ายบ้านกันมาแล้วก็คงพอจะทราบกันดีว่านอกจากจะต้องปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ใหม่แล้ว การย้ายบ้านทุกครั้งยังมาพร้อมกับการความเหน็ดเหนื่อยจากการเก็บข้าวของและจัดของใหม่, ค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง รวมถึงความรู้สึกไม่มั่นคงและไม่ปลอดภัยจากสถานที่ใหม่ที่ยังไม่คุ้นเคย จากการที่เราได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านพบว่าบางครอบครัวได้ผ่านการย้ายบ้านมาแล้ว 4 ครั้ง บ้างก็ 5 ครั้ง บ้างก็มากถึง 11 ครั้งกันเลยทีเดียว
“ถ้าหลังนี้ (บ้านหลังปัจจุบัน) โดนไปด้วยก็ไม่รู้จะย้ายไปไหนแล้ว” พี่เจ้าของบ้านที่ย้ายบ้านมา 11 ครั้ง กล่าวกับพวกเราอย่างสิ้นหวังระคนปล่อยวาง
ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีทั้งภาครัฐและหน่วยงานต่างๆ ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างเขื่อนสลายกำลังคลื่นจากเสาคอนกรีต และชาวบ้านเองก็ได้มีการนำท่อนไม้ไผ่มาวางเรียงกันเป็นแนวยาวเพื่อลดความรุนแรงของคลื่นน้ำและชะลอการกัดเซาะหน้าดิน แต่ชาวบ้านก็ยอมรับว่าเรื่องนี้ยังคงเป็นปัญหาที่ทุกคนในชุมชนยังคงต้องเผชิญอยู่จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ด้วยความที่บ้านขุนสมุทรจีนมีลักษณะเป็น “อ่าวกอไก่” ที่มีน้ำจากหลายแหล่งไหลเวียนเข้ามาตลอดทั้งปี ทำให้เกิดเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญนั่นก็คือ ”ปัญหาขยะทะเล” ที่มีทั้งขวดพลาสติก ถุงพลาสติก ขยะทั่วไป ตลอดจนเครื่องซักผ้าหรือตู้เย็นกันเลยทีเดียว!
“พี่เอ๊ะ” ได้พาพวกเราไปพิสูจน์แหล่งที่มาของขยะแต่ละชิ้นโดยการสุ่มหยิบขวดน้ำพลาสติกขึ้นมาจากกองขยะริมชายฝั่ง เมื่ออ่านดูฉลากข้างขวดพลาสติกก็ได้พบว่าที่มาของขยะแต่ละชิ้นต่างก็มาจากหลากหลายจังหวัดของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร, ชุมพร หรือแม้กระทั่งปัตตานีที่อยู่ห่างไกลจากสมุทรปราการออกไปนับพันกิโลเมตร ซ้ำร้ายยังมีขยะจากประเทศเพื่อนบ้านอีกหลายประเทศที่ถูกกระแสน้ำพัดพามาติดที่บ้านขุนสมุทรจีนเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ขยะจากประเทศเวียดนาม, จีน หรือมาเลเซีย เป็นต้น ซึ่งการที่จะขนย้ายขยะนับหลายตันออกไปจากชุมชนได้นั้นก็จะไปสัมพันธ์กับปัญหาในข้อต่อไปที่เรากำลังจะพูดถึงนั่นก็คือ “ปัญหาด้านการขนส่งและการคมนาคม”
เนื่องด้วยบ้านขุนสมุทรจีนเพิ่งจะมีถนนที่ตัดเข้าไปสู่ชุมชนได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ และยังคงมีลักษณะเป็นถนนลูกรัง (หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าดินแดง) อยู่ ทำให้การเดินทางเข้าออกชุมชนโดยรถยนต์หรือรถมอเตอร์ไซค์ยังคงไม่ใช่วิธีการหลักที่ชาวบ้านใช้ในการเดินทางเข้า-ออกชุมชน แต่วิธีที่ชาวบ้านคุ้นเคยกันดีกลับเป็นการเดินเท้าหรือการข้ามเรือซะมากกว่าเพราะถึงแม้ว่าจะไม่ได้สะดวกสบายแต่ก็มีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า
ในการที่จะขนย้ายขยะจากชุมชนออกไปสู่ภายนอกได้นั้น ชาวบ้านก็ต้องพบกับปัญหาเรื่องการขนย้ายที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง อีกทั้งยังขาดแคลนบุคลากรที่จะมาช่วยกันทำหน้าที่ในส่วนนี้อย่างจริงจัง เนื่องจากในปัจจุบันประชากรในหมู่บ้านแห่งนี้มีเพียงประมาณ 200 คน ซึ่งเป็นเด็กและผู้สูงอายุซะส่วนใหญ่ จึงต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากบุคคลภายนอกและหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยกันเร่งดำเนินการ ทั้งนี้การที่บุคคลภายนอกจะเข้าไปขนย้ายขยะก็ยังต้องพบกับข้อจำกัดในเรื่องเส้นทางการขนส่งอีกด้วย ซึ่งปริมาณขยะที่จะสามารถขนออกไปจากหมู่บ้านได้ในแต่ละเที่ยวและความถี่ของการเข้ามารับขยะออกไปได้นั้น ยังคงไม่สัมพันธ์กับขยะทะเลที่เกิดขึ้นใหม่ในทุกๆ วันภายในชุมชนบ้านขุนสมุทรจีน ชาวบ้านจึงจำเป็นต้องใช้วิธีเผาขยะกันเองภายในหมู่บ้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะทราบดีว่าการเผาทำลายขยะจะนำไปสู่การสร้างมลพิษในอากาศจาก PM 2.5 ต่อไปก็ตาม
จากปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าชาวบ้านในชุมชนเองต่างก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พวกเขาเข้าใจดีถึงต้นตอของปัญหา ข้อจำกัด รวมไปถึงแนวโน้มของสิ่งที่อาจเกิดขึ้น และพยายามอย่างที่ดีที่สุดที่จะประคับประคองสถานการณ์ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการเจรจาต่อรองอย่างโอนอ่อนเพื่อหวังเพียงได้รับการผ่อนปรนจากธรรมชาติ แม้ว่าตัวเขาเองอาจไม่ได้เป็นคนก่อขึ้นทั้งหมดก็ตาม